(10 กันยายน 2567) : ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2567 (NECTEC Annual Conference & Exhibitions 2024: NECTEC-ACE 2024) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” ซึ่งปีนี้มุ่งเน้นด้าน “เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ: The Next Era of Thai Intelligent Sensors” โดยมี ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 1,000 คนเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสององค์ประกอบหลักที่ขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราอย่างที่เราคาดไม่ถึง ทั้งเป็นกุญแจสำคัญของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อกันและสื่อสารกันได้ ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีผลในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังถูกใช้ในระบบขนส่งอัจฉริยะ ช่วยให้การจราจรมีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว และประหยัดพลังงาน ถูกใช้ในระบบดูแลสุขภาพ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรอัจฉริยะ ช่วยให้เกษตรกร สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ดังนั้นเซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค ประจำปี 2567 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2024 (NECTEC–ACE 2024) โดยมุ่งเน้นประเด็น “เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ” The Next Era of Thai Intelligent Sensors ซึ่งจัดโดยเนคเทค สวทช. ถือว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนให้ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ภาคเกษตร สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผู้ประกอบการ และนักลงทุน สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ ร่วมทั้งการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ผลักดันผลงานวิจัยไปสู่ผู้ใช้งานจริงได้อย่างยั่งยืน โดยผ่านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติและเครือข่ายพันธมิตร เพื่อยกระดับการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้ตอบโจทย์การใช้งานภายในประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. โดยเนคเทคซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้เชื่อมโยงการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผู้ประกอบการและนักลงทุน ในการสนับสนุนและถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนาไปสู่ การใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ ปัจจุบันเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการประยุกต์ใช้ ในอุตสาหกรรม และเซนเซอร์อัจฉริยะมีความสำคัญต่ออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และอุปกรณ์ ที่เชื่อมต่อการใช้งานเซนเซอร์อัจฉริยะจึงมีมากมาย สามารถบูรณาการเข้ากับแอปพลิเคชันที่หลากหลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยในปีต่อ ๆ ไป คาดว่าอุตสาหกรรม
เซนเซอร์อัจฉริยะจะยังคงเติบโตและสร้างสรรค์ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาและการลงทุนในอนาคต รวมถึงช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์สำหรับเทคโนโลยีเซนเซอร์ของไทยให้เป็นหนึ่งที่สำคัญในระบบนิเวศเซนเซอร์อัจฉริยะของโลก
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า งานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค หรือ NECTEC-ACE มีเป้าหมายเพื่อผลักดันเทคโนโลยีและผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ โดยมุ่งเน้น 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1.Intelligent Sensors 2.Networking & Communication และ 3.AI & Big Data อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง NECTEC-ACE2024 ในปีนี้นำเสนอเรื่องราวของเทคโนโลยีเซนเซอร์ ที่มีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัลและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและสากล ในฐานะที่เนคเทค สวทช. ได้ก่อตั้ง Thai Microelectronics Center (TMEC) เป็น MEMS Foundry แห่งแรกของไทย ตั้งแต่ปี 2538 เปิดให้บริการพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS และเซนเซอร์ ในกลุ่ม More Than Moore ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การสร้างต้นแบบ การทดสอบไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ในปริมาณน้อยถึงปานกลาง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมา ได้แก่ MEMS Pressure Sensors, Silicon Particle Detector, Si MEMS Microphones, Si MEMS Gyroscopes และ Ion-Sensitive Field-Effect Transistor (ISFET) อีกบทบาทสำคัญของ TMEC คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศและเสริมสร้างกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต โดยเนคเทค สวทช. พร้อมนำองค์ความรู้ด้านเซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์ เข้าไปมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงในมิติของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการและ นักลงทุนทั่วไป ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเสริมระบบนิเวศการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะภายในประเทศให้มีความพร้อมก้าวสู่ตลาดการแข่งขันในระดับสากล
ความพิเศษของการจัดงาน NECTEC-ACE 2024 ในปีนี้ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 17 ยังคงได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนรวม 26 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นประโยชน์ และความสำคัญในการสนับสนุน โดยมีผู้สนใจได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมาแล้วทั้งสิ้น มากกว่า 1,000 คน ซึ่งปีนี้นำเสนอเรื่องราว ในหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์ ให้ทุกท่านได้เห็นถึงบทบาทของเซนเซอร์อัจฉริยะที่มีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัล และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ผ่านกิจกรรมภายในงาน ทั้งในรูปแบบการจัดสัมมนาวิชาการ และการจัดแสดงนิทรรศการ ที่ทุกท่านจะได้เรียนรู้
เกี่ยวกับสถานภาพปัจจุบัน และศักยภาพของเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงมุมมองด้านนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนา โอกาส ความท้าทายการลงทุน ทั้งในมิติของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้ใช้งาน ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม เสริมระบบนิเวศ (Ecosystem) การพัฒนาเซนเซอร์อัจฉริยะที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมภายในงานเต็มไปด้วยเนื้อหา สาระความรู้ เพื่อนำเสนอต่อผู้ที่สนใจทางด้านเซนเซอร์อัจฉริยะทุกท่านได้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ประกอบด้วย
โดยภายหลังการจัดงาน ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ สามารถติดตามบันทึกการสัมมนาย้อนหลังและข้อมูลนิทรรศการผลงานวิจัย ได้ที่เว็บไซต์ www.nectec.or.th/ace2024 ตั้งแต่ 30 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
12 กันยายน 2567
ผู้ชม 24 ครั้ง