วันที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือและรับหนังสือจากนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างจำนวน 7 สภา เพื่อขอให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) และ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมี นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมศ. นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผม พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงแรงงาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ร่วมหารือผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างฯ ที่ได้มายื่นหนังสือเพื่อขอให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ข้อ 2 วรรคสอง ที่กำหนดไม่ให้ลูกจ้างรายเดือนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาเท่ากับลูกจ้างรายวัน และแก้ไขฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ซึ่งตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลา ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยได้มีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อให้ลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานล่วงเวลา เช่นเดียวกับลูกจ้างรายวัน
“ผมได้สั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 7 คน เพื่อศึกษาผลดีและผลเสีย รวมถึงผลกระทบจากการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว โดยจะพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนในอัตรา 1.5 เท่าต่อชั่วโมงสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และ 3 เท่าต่อชั่วโมงสำหรับการทำงานในวันหยุด เช่นเดียวกับลูกจ้างรายวันหรือลูกจ้างตามผลงานตามกฎกระทรวงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดประชุมและรายงานผลการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน” นายพิพัฒน์กล่าว
01 ตุลาคม 2567
ผู้ชม 38 ครั้ง