วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในฐานะประธานในพิธีเปิดงาน “12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ประจำปี พ.ศ. 2567” ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการดูแลด้านความปลอดภัย โดยขับเคลื่อนภายใต้โครงการ Safety Thailand ด้วยการเคร่งครัดบังคับใช้กฎหมาย สร้างองค์ความรู้ และพัฒนากลไกภาคีเครือข่าย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการประสบอันตรายจากการทำงานกรณีร้ายแรงจาก 2.30:1000 คน ในปี 2567 ให้คงเหลือ 1:1000 คน ในปี 2573 เป็นเป้าหมายที่ต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย ในการสร้างพัฒนา สร้างความปลอดภัยให้ยั่งยืน ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีการกำหนดให้นายจ้างของสถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีบุคลากรเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ในสถานประกอบกิจการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเรียกว่า “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” หรือ จป. ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษา แนะนำ ดำเนินการตรวจสอบ ประเมินอันตรายในการทำงานให้แก่นายจ้างและลูกจ้างสร้างมาตราการเพื่อเป็นเกราะป้องลดการสูญเสีย อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดสภาพความปลอดภัยต่อคนทำงานปราศจากอุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา (กรณีร้ายแรง) ลดลงได้ถึงร้อยละ 4.69 ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม สามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายร้อยละ 4.0 ที่ตั้งไว้ อันแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจกันของเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงานที่ทำคุณประโยชน์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน
ด้าน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Safety Culture Together” เพื่อขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่จะปลุกกระตุ้นให้สถานประกอบกิจการทั่วประเทศ รวมพลังร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการไปกับกระทรวงแรงงานให้มีการดำเนินงาน ได้แก่ 1. การประกาศเจตนารมณ์สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย 2. จัดกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ และ 3. ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ได้ร่วมมือกันค้นหาอันตรายเพื่อวางมาตรการป้องกัน นอกจากนี้ กรมได้สนับสนุนให้ จป. ทั่วประเทศรวมตัวเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ชุมชน สังคม รวมไปถึงบูรณาการการทำงานกับภาครัฐ ช่วยให้การขับคลื่อนการสร้างหลักประกันทางสังคม พัฒนาทักษะการทำงานให้เกิดความทันสมัย ส่งเสริมเกิดการจ้างงานเพิ่ม ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้ยั่งยืน และทำให้ภาคเศรษฐกิจแรงงานไทยมีศักยภาพให้ถึงขีดสุดต่อไป
12 พฤศจิกายน 2567
ผู้ชม 20 ครั้ง