กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน เปิดให้แรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นขึ้นทะเบียน ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ workpermit2024.doe.go.th เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2567
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบและสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ทำให้เกิดการลักลอบเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยทางพรมแดนธรรมชาติ ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ประกอบกับแรงงานข้ามชาติบางส่วนซึ่งเคยได้รับอนุญาตทำงานถูกต้อง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากดำเนินการขออนุญาตทำงานไม่ครบขั้นตอน เปลี่ยนนายจ้างไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด หรือทำงานครบวาระการจ้างงานตาม MOU แต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ เพื่อมิให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน กระทบต่อการขับเคลื่อนกิจการของนายจ้าง สถานประกอบการ และเศรษฐกิจของประเทศไทย กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อบรรเทาผลกระทบ
“ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างเป็นการชั่วคราวได้เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งขณะนี้ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงกำหนดเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567 นี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ โดยระยะแรก ให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ workpermit2024.doe.go.th หรือยื่นเอกสารด้วยตัวเองได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ทำงานของนายจ้าง
ระยะที่ 2 ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (แบบ บต. 50 อ.6) พร้อมเอกสารและหลักฐาน อาทิ ใบรับรองแพทย์ เอกสารประกันสุขภาพ/เอกสารประกันสังคม และเอกสารนายจ้าง เป็นต้น ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2568 พร้อมชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2569
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแล้ว จะต้องดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ต่อไป
สำหรับผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของบิดาหรือมารดา โดยให้บิดาหรือมารดาของผู้ติดตามแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ทำงานของนายจ้าง จากนั้นให้ไปจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัด หรือสถานที่ที่กรมการปกครองกำหนด
“ขอให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติให้ความสำคัญศึกษาแนวทางการขอรับใบอนุญาตทำงาน และดำเนินการทุกขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและการอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางานหรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายสมชาย กล่าว
17 ธันวาคม 2567
ผู้ชม 10 ครั้ง