ค้นหางานด่วน !

สมัครงานอย่างไรให้ (ไม่) ได้งาน ฉบับเด็กจบใหม่ และ นศ.ฝึกงาน

หมวดหมู่: ข้อคิดคนหางาน

การทำงาน คือส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าคุณได้ทำงานที่คุณรัก คุณจะไม่รู้สึกอีกเลยว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ งานจึงสามารถบ่งบอกคุณค่าในตัวเองได้ และสำหรับนักศึกษาฝึกงานผู้ร้อนวิชา ไปจนถึงบัณฑิตจบใหม่ป้ายแดง ถึงเวลาแล้วที่ต้องออกตามล่าหาที่ฝึก หาที่ทำงานให้ตรงจริตกับตัวเอง โดยก้าวแรกของการทำงานนั้นถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งในชีวิตกันเลยทีเดียว การได้ไปเจอประสบการณ์การทำงานของจริง ได้ใช้ทักษะที่ตัวเองร่ำเรียนมาแทบตาย จะเอาอะไรมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง ความรู้ที่ติดตัว ความสามารถที่มี ระดมรีดเร้นเอามันออกมาใช้จนหยดสุดท้าย การได้นั่งปวดหัวกับงานที่เราได้รับมอบหมายนั้นจะทำให้รู้ได้เลยว่าคุณชอบในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่หรือเปล่า ถนัดและเชี่ยวชาญมากน้อยเพียงใด จะเลือกทำต่อ หรือจะหยุดเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองไปพบเจอกับหนทางใหม่ดี เพราะถ้าเลือกผิดชีวิตก็เปลี่ยน

โดยเฉพาะการฝึกงานนั้นถือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก คุณจะได้ทำงานจริง ได้โชว์ของ ได้ทำงานกับคนที่มีประสบการณ์ ได้เรียนรู้ทักษะหลาย ๆ อย่างที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนอย่างเต็มที่ เป็นแหล่งบ่มเพาะเพื่อพัฒนาตัวเอง สามารถต่อยอดแนวคิดของตัวเองได้ในอนาคต แต่ก็ใช่ว่าคุณจะเป็นคนเลือกแต่เพียงผู้เดียว ทางฝั่งองค์กร หรือบริษัทก็ต้องเลือกคุณเหมือนกัน คุณมีดีอะไรที่ทำให้เขาสนใจคุณได้บ้าง

บางคนยังไม่รู้ว่าเลยจะสมัครงานยังไง ต้องเตรียมตัว เตรียมใจอะไรบ้าง ทำส่งแบบผิด ๆ ถูก ๆ เห็นแล้วก็ปวดหัว ปวดใจทุกที บรรลัยในแบบที่ใครเห็นก็ต้องส่ายหัว สูญสิ้นความหวังกับเด็กรุ่นใหม่กันเลยทีเดียว แต่ไม่เป็นไร บทความนี้จะแนะนำชี้หนทางสว่างให้กับเหล่าเยาวชนเลือดใหม่ให้ไม่นกกับการสมัครงานที่แสนสำคัญในชีวิตของคุณเอง ตั้งสติดี ๆ แล้วค่อย ๆ อ่าน แล้วสำรวจตัวเองไปด้วยกันว่าคุณมี หรือขาดปัจจัยอะไรที่จำเป็นจะต้องใช้ในการสมัครงานบ้าง

“Difference between school and life ? In school you are taught a lesson and then given a test. In life, you are given a test that teaches you a lesson.

- Tom Bodett -

1.ใบสมัครและอีเมล คือประตูด่านหน้าของความประทับใจแรกพบ

การส่งใบสมัครงาน บางบริษัทยังใช้วิธีแบบดั้งเดิม คือต้องเข้าไปกรอกใบสมัครที่บริษัท ถ่ายรูปติดบัตรขนาดหนึ่งนิ้วสองใบ แนบไปด้วยกับเอกสารสำคัญ เวลากรอกใบสมัครก็ต้องค่อย ๆ บรรจงเขียนหน่อย เดี๋ยวจะอ่านไม่ออก แต่ปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่ก็จะไม่ใช้วิธีนี้กันแล้ว มันหมดยุคสำหรับการเดินทางไปที่บริษัท แล้วหอบเอกสารกองใหญ่ส่งให้ฝ่ายบุคคลฯ พิจารณา ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ถูกแทนด้วยการส่งอีเมลง่าย ๆ โดยไม่ต้องเปลืองกระดาษ

แต่ช้าก่อน! ถ้าคุณคิดว่าแค่ส่งไฟล์ไป เขียนแต่หัวเมล แล้วไม่เขียนแนะนำตัว หรือรายละเอียดอะไรเลย ไม่เขียนแม้กระทั้งช่องทางติดต่อกลับ ก็จบเห่เหมือนกัน ทำแบบนี้นอกจากจะเป็นการไม่ให้เกียรติกับบริษัทที่คุณส่งไปแล้ว ยังถือว่าเป็นการดูถูกตัวเองอย่างรุนแรงอีกด้วย ลองนึกดูว่าคุณส่งจดหมายจ่ายหน้าซองว่าขอสมัครงาน เปิดมาภายในซองมีแต่เอกสารอื่นที่ไม่ใช่จดหมายแนะนำตัว ทำแบบนี้คนที่ได้รับเขาจะคิดว่าอย่างไง ถ้าจะส่งชุ่ย ๆ แบบนี้ไป ก็สู้อย่าส่งไปเสียตั้งแต่แรกจะดีกว่า

ภาษาที่ใช้ก็สำคัญ

การเรียบเรียงภาษาที่ใช้เขียน ก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่คุณไปสมัครมีลักษณะอย่างไร เป็นองค์กรรัฐ เอกชน ขนาดใหญ่หรือเล็ก ก็จะมีการใช้ภาษาเขียนที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าให้ดีเราก็ควรที่จะต้องเขียนให้เป็นทางการจะดีที่สุด แน่นอนว่าผู้ที่เปิดอ่านใบสมัครหรืออีเมลของเรานั้นก็จะต้องเป็นระดับรุ่นใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคล หัวหน้าแผนก ไปจนถึงเจ้าของบริษัท ถ้าเราดันทะลึ่งไปเขียนแบบซื่อ ๆ โง่ ๆ นอกจากความประทับใจแรกจะไม่มีแล้ว โอกาสที่คุณจะพลาดได้งานมีสูงมาก ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน ทักษะดีเพียงใด เกรดเท่าไหร่ ถ้าไม่มีทักษะในการเขียนแนะนำตัวเองที่ดีพอ ใบสมัครหรืออีเมลของคุณก็เป็นได้แค่จดหมายฉบับหนึ่งที่ถูกขยำทิ้งในถังขยะแห้ง แบบไม่จำเป็นต้องเปิดซองอ่านเลยเสียด้วยซ้ำ

ชื่อเมลนั้นสำคัญไฉน ?

ตรวจเช็คชื่อของคุณ และชื่ออีเมลที่ใช้ให้ดี ๆ เพราะการตั้งชื่อที่แปลก ๆ มันอันตรายมากกว่าที่คุณคิด ซึ่งชื่อเหล่านี้มันกำลังบอกถึงตัวตนของคุณ ถ้าหากว่าอ่านแล้วดูไม่น่าเชื่อถือ แบบที่แค่เห็นชื่อก็ไม่กล้าเปิดอ่าน เช่น การไม่ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงตั้ง ใช้ชื่อฉายาแปลก ๆ หรือชื่ออีเมลที่ยาวเกินไป ยากต่อการจดจำ ก็ขอให้พิจารณาดูเสียใหม่ ถ้าใครรู้ตัวว่าชื่อของเราดูไม่ปกติ ก็ขอแนะนำให้รีบเปลี่ยนซะก่อนที่จะกดส่งอีเมลสมัครงานออกไป

ส่งอีเมลรัว ๆ มันก็คงมีติดสักที่ล่ะวะ

อีกหนึ่งเรื่องที่พึงระวัง คือการใช้อีเมลฉบับเดียวกันแต่กดส่งไปทีละหลาย ๆ บริษัท นอกจากจะเป็นวิธีการหว่านแห่ที่น่าเกลียดแล้ว ก็จะดูเหมือนคุณไม่มีความจริงใจในการสมัครงานกับบริษัทนั้น ๆ ถ้าคุณส่งอีเมลสมัครไป 10 – 20 ที่แบบนี้ คงไม่มีใครกล้าเรียกตัวคุณอย่างแน่นอน แล้วถ้าหากว่าบริษัทหนึ่งทำการตอบกลับอีเมล์ของคุณ (Reply All) ตีกลับไปยังบริษัททั้งหมดที่คุณส่งอีเมลสมัครงานมา แล้วประจานเรื่องการสมัครงานที่ไม่มีมารยาทของคุณแบบนี้ นั่นอาจจะทำให้คุณติดแบล็คลิส และหมดอนาคตกับทุกบริษัทที่คุณหว่านแห่สมัครงานทั้งหมดแบบไม่ต้องสงสัยเลย

2.ให้คุณค่ากับไฟล์เอกสารที่สำคัญ

การแนบไฟล์เอกสารที่สำคัญ ขอให้คุณพึงระลึกไว้อยู่เสมอว่าเอกสารสำคัญที่คุณส่งไปนั้น สามารถถูกปลอมแปลง ดัดแปลงและแก้ไขได้ คุณไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารสำคัญทั้งหมดในชีวิตของคุณไปให้บริษัทดูทั้งหมดก็ได้ แต่ก็ต้องเช็คให้ดีเสียก่อนว่าบริษัทต้องการเอกสารอะไรเพื่อประกอบการพิจารณาบ้าง ถ้าเป็นเอกสารที่สำคัญจริง ๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ก็ขอให้คุณเซ็นเอกสารกำกับเพื่อป้องกันการทุจริตนำเอกสารสำคัญของคุณไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ทางที่ดีควรส่งไปแค่ Resume และ Portfolio ก็เพียงพอแล้ว ส่วนเอกสารอื่น ๆ เช่น ใบรับรองการศึกษา ใบรับรองผลการเรียน จะใช้ก็ต่อเมื่อบริษัทเรียกคุณไปสัมภาษณ์แล้วเท่านั้น อย่าลืมเอาไปเฉพาะสำเนานะ ตัวจริงเก็บเอาไว้นอนนิ่ง ๆ อยู่ที่บ้านก็พอ

Resume กับ Portfolio เหมือนหรือต่างกันยังไง ?

น้อง ๆ บางคนก็ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่าง Resume กับ Portfolio ได้ นึกว่ามันเป็นอย่างเดียวกันซะอีก จริง ๆ แล้วมันเป็นคนละเอกสารกันต่างหากล่ะ

Resume คือ ประวัติส่วนตัวสั้น ๆ ที่รวบรวมทุกอย่างที่จะทำให้คนอื่นได้รู้จักคุณ บรรจุข้อมูลทุกอย่างจบเพียงแค่หนึ่งหน้ากระดาษ บางคนก็เอาง่าย ๆ พิมพ์และจัดวางหน้าดี ๆ หน่อยใช้ได้แล้ว บางคนที่มีสกิลกราฟฟิก ก็จัดเต็มตกแต่ง Resume ของตัวเองให้สวยงามดูดีมีชาติตระกูล การทำ Resume ไม่ได้มีกฏตายตัว คุณจะสร้างสรรค์มันอย่างไรก็ได้ให้มันบ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณ ถ้าใครไม่มีทักษะในการตกแต่ง ก็สามารถหา template ที่ตัวเองชอบในอินเตอร์เน็ตได้ฟรี แล้วนำมาดัดแปลงเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ก็ไม่เสียหาย

นอกจาก Resume ยังมีเอกสารอีกแบบหนึ่งที่ชื่อว่า “CV” ซึ่งมีความต่างกับ Resume นิดหน่อยตรงที่ CV จะมีความยาวมากกว่าหนึ่งหน้า ภายในระบุรายละเอียดเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การศึกษา ประสบการณ์ต่าง ๆ ผลงานที่เคยทำ รางวัลที่เคยได้รับ เป็นต้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าประวัติของตัวเราเองเหมาะกับการทำ Resume หรือ CV มากกว่ากัน บางบริษัทก็นิยมให้ส่ง Resume บางที่ก็ชอบ CV มากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ข้อมูลที่สำคัญของคุณต้องครบถ้วน

Portfolio คือ เอกสารที่รวบรวมผลงานต่าง ๆ ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานที่เคยสร้าง ผลงานที่เคยทำ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยร่วม ไปจนถึงงานอดิเรก และความสนใจส่วนตัวของคุณ เพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตคุณได้ผ่านอะไรมาแล้วบ้าง คลั่งไคล้สิ่งไหน มีทักษะอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ร่ำเรียนมาบ้างหรือเปล่า ถ้าใครไม่เคยทำ Portfolio ก็รีบทำซะ ขุดอดีตของตัวเองไล่กันมาตั้งแต่อนุบาลยันจบมหาวิทยาลัยก็ไม่มีใครว่า เพราะ Portfolio นั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทสนใจในตัวคุณมากยิ่งขึ้น ถือเป็นไม้เด็ดในการมัดใจแต่แรกพบกันเลยทีเดียว

การตั้งชื่อไฟล์ที่แนบแบบธรรมดาดาษดื่น

บางคนส่งประวัติมา แล้วตั้งชื่อไฟล์ดาด ๆ ว่า “resume” หรือไฟล์ที่ใช้สะสมงานว่า “portfolio” เฉย ๆ คุณไม่รู้เหรอว่าเวลาที่ไฟล์พวกนี้ถูกดาวน์โหลดเก็บไว้ในเครื่อง แล้วเวลาที่คนจะกลับมาเปิดไฟล์ของคุณมันจะหาไม่เจอ!!! ลองคิดดูว่าถ้ามีคนส่งไฟล์ที่ตั้งชื่อว่า “resume” มาวันละ 10 คน เราจะไม่รู้เลยว่า ไฟล์ resume ของคุณอยู่ที่ไฟล์ไหน เพื่อลดภาระในการหาไฟล์ไม่เจอ คุณควรจะตั้งชื่อเสียใหม่ จะใช้ชื่อจริงของตัวเองในการตั้งไฟล์ก็ได้ เพื่อที่เวลาบริษัทเค้าจะหาไฟล์เอกสารของคุณจะได้ง่ายขึ้น

เพิ่มเติมส่วนของ Resume และ Portfolio อีกนิด ไม่ว่าคุณจะทำให้เรียบร้อยดูดีมีชาติตระกูล ทำเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดจะได้ดูอินเตอร์ หรือตกแต่งโชว์พลังบ่งบองความเป็นตัวคุณให้มากที่สุดก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะ ว่าอยากให้ภาพลักษณ์ตัวเองเป็นยังไงในสายตาของผู้ใหญ่ที่เขากำลังตัดสินใจจะรับคุณเพื่อเข้ามาร่วมงานด้วยกัน บางทีถ้ามันดูยุ่งยากมากเกินไปก็หันไปใช้บริการฝากโปร์ไฟล์ของตัวเองไว้ในเว็บไซต์สมัครงานก็ได้ ถือว่าสะดวกและง่ายต่อตัวผู้หางานเอง รวมไปจนถึงตัวบริษัทเองก็หาคนทำงานที่ตรงกับความต้องการได้ง่ายเช่นเดียวกัน

3.ทักษะความสามารถ คนละเรื่องเดียวกันกับถนัดโปรแกรมอะไร

ทุกบริษัทจะให้ความสำคัญกับทักษะและความสามารถของคุณ ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะระบุว่า เราถนัดโปแกรมนั้น คล่องโปรแกรมนี้ เช่นว่า ถ้าคุณเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ แล้วคุณบอกว่าคุณถนัดโปรแกรม Illustrator มาก หรือคุณทำงานตัดต่อ แล้วบอกว่าคุณใช้ Final Cut Pro ได้เทพสุด ๆ คุณเคยคิดหรือเปล่าว่าคนที่เขานั่งอ่านทักษะของคุณ เขาจะรู้จักโปรแกรมพวกนี้เหมือนคุณไหม ? แน่นอนว่าต้องมีคนที่ไม่รู้จักอย่างแน่นอน หรือแม้กระทั้งคุณบอกว่าคุณใช้กล้องยี่ห้อ Canon รุ่นนั้นรุ่นนี้ มีเลนส์ราคาแพงสุดอลังการหลายตัว แต่ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าคุณถ่ายรูปเก่งขนาดไหน จริง ๆ แล้วคุณต้องบอกว่า คุณถนัดถ่ายภาพบุคคล ถ่ายวิวทิวทัศน์ ถ่ายภาพกีฬา แบบนี้มากกว่าที่จะมาบอกว่านั่งคุณถนัดอุปกรณ์อะไร หรือถนัดโปรแกรมไหน ซึ่งหมายถึงว่า ทางบริษัทเขาต้องการที่รู้ว่าทักษะที่คุณมี ดีพอที่จะสามารถผลิตผลงาน หรือสร้างสรรค์อะไรออกมาให้เขาได้ต่างหากล่ะ ถ้าหากว่าบริษัทสนใจเครื่องไม้เครื่องมือที่คุณถนัด เพราะว่ามันเป็นเรื่องเฉพาะทางมาก ๆ ทางบริษัทจะสอบถามคุณเอง

ยกตัวอย่างกรณีที่เจอเยอะมากที่สุดคือ ถนัดโปรแกรม Microsoft Word ที่เป็นโปรแกรมพิมพ์เอกสารพื้นฐานสำหรับ Windows ที่คนส่วนใหญ่จะต้องเคยได้ใช้งานกันมาบ้าง แบบนี้ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นทักษะ หรือความสามารถทางโปรแกรม แต่เป็นเพียงทักษะพื้นฐานที่คุณควรมีมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไม่จำเป็นจะต้องระบุให้เปลืองพื้นที่กระดาษ ฉะนั้นจงบอกทักษะที่คุณถนัด มากกว่าที่จะบอกว่าตัวเองถนัดโปรแกรมอะไร หรือใช้เครื่องมืออะไร แนะนำให้ลองเปลี่ยนดู อาจจะทำให้ประวัติของคุณดูน่าสนใจมากขึ้นเป็นกองเลยก็ได้

4.รูปเธอนั้น ขอฉันเถอะนะ

การใช้รูปของตัวเองอย่างน้อยหนึ่งรูป แปะติดมากับ Resume ถือว่าเป็นเรื่องเบสิคอยู่แล้ว บางคนก็ส่งรูปติดบัตรหน้าตรงมา บางคนก็หารูปที่คิดว่าตัวเองดูดีที่สุด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรูปหน้าตรงเสมอไป แค่ต้องเห็นใบหน้าของคุณให้ชัดเจน ผมไม่ปิดหน้า หรือหันด้านข้างมากเกินไป ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ก็ควรจะเป็นรูปถ่ายในยุคปัจจุบัน อย่างน้อยก็ไม่ควรเกินสามเดือน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรจะขุดรูปโบราณเก่าเก็บมาใช้ สามารถตกแต่งภาพตัวเองเพื่อความสวยงามนิด ๆ หน่อย ๆ ได้ แต่ต้องไม่เวอร์เกินหนังหน้าจริง แบบถ่ายรูปมาดูดี หน้าใสผอมเพียว แต่ตัวจริงกลับอ้วนดำ หน้าสิวแบบนี้เท่ากับหลอกลวงผู้บริโภคนะจ๊ะ พยายามใช้รูปที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดจะดีกว่า จงมั่นใจเบ้าหน้าเบ้าโหนกของตัวเองหน่อย เพราะคุณคงไม่อยากให้คนที่นัดคุณเพื่อสัมภาษณ์ช็อคนั่งตกเก้าอี้ เพราะรูปไม่ตรงกับปกใช่ไหม

5.ไม่ต้องรับสายถ้าเธอไม่เหงา

หลังจากที่ส่งใบสมัครไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากการบนบานศาลกล่าวขอให้สิ่งศักดิ์ช่วยเหลือ คุณควรสแตนด์บายรอรับสายสำคัญที่อาจโทรมาหาคุณด้วย เพราะถ้าหากว่าเขาโทรติดต่อคุณตอนนี้ไม่ได้ เขาก็อาจจะไม่มีเวลาติดต่อกลับมาหาคุณอีกเลยก็ได้ อย่าลืมว่างานในตำแหน่งที่คุณสมัคร มันก็มีคนอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องการงานนี้เหมือนกับคุณนั่นล่ะ ถ้าหากว่าเขาโทรมาแล้วก็ขอจงตั้งสติให้มั่น เลือกใช้คำพูดที่จะสื่อสารดี ๆ แต่ถ้าหากว่าคุณไม่สะดวกรับสายในตอนนั้น ก็แจ้งปลายสายไปตรง ๆ แล้วหาเวลาโทรกลับซะ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่อย่าทะลึ่งโทรกลับไปหลังเวลามนุษย์ปกติเลิกงานล่ะ มันจะไม่งาม เพราะใคร ๆ ก็ต้องเว้นระยะห่างระหว่างเวลาส่วนตัวกับเวลางานเหมือนกัน ลองคิดดูว่าโทรไปตอนสาม สี่ทุ่ม เป็นใครก็ต้องหัวร้อน นอกจากการพูดคุยทางโทรศัพท์แล้ว ก็ต้องหมั่นเช็คอีเมลด้วย เพราะบางบริษัทก็สะดวกติดต่อกับคุณผ่านทางอีเมลอย่างเดียวเหมือนกัน ฉะนั้นก็เคลียร์ตัวเองให้ติดต่อง่าย ๆ เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสที่สำคัญ

6.เตรียมตัวสัมภาษณ์งาน พกความมั่นใจแล้วลุย

ถ้าบริษัทนัดหมายคุณให้มาสัมภาษณ์ดูตัวกัน ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจไป สูดลมหายใจลึก ๆ พกความมั่นใจ ไปตรงเวลานัดหมาย ถามได้ ตอบได้ พัฒนาทักษะทางด้านการสื่อสารให้ดี คิดคำถาม คำตอบยอดฮิตไว้ล่วงหน้าเลยก็ได้ เช่น คาดหวังอะไรจากการทำงาน ถ้าได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้จะช่วยพัฒนาอะไรให้องค์กรได้บ้าง มองตัวเองในอีก 3–5 ปี ข้างหน้าอย่างไรบ้าง เป็นต้น อย่าลืมหอบผลงานและหลักฐานสำคัญที่บริษัทต้องการอยากเห็นไปด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเอาเอกสารฉบับจริงไปก็ได้ เอาไปแค่สำเนาก็พอแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การแต่งกาย เช็คดูให้แน่ใจก่อนว่าองค์กรที่คุณกำลังจะไปเป็นแบบไหน ภาพลักษณ์ของงานในตำแหน่งคุณเป็นยังไง ถ้าเป็นงานที่ซีเรียส ๆ หน่อยก็แต่งตัวให้เรียบร้อยดูดี ถ้าเป็นงานทางสายครีเอทีฟก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องแต่งตัวเป็นทางการเหมือนไปงานแต่งงานญาติผู้ใหญ่ก็ได้ หากคุณเป็นนักศึกษาฝึกงานก็ใช้ชุดนักศึกษาแบบสแตนดาร์ดก็ดูสุภาพเรียบร้อยตามมาตรฐานมหาวิทยาลัยไทย ฉะนั้นก็จงเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่คนที่คุณจะไปพบ

และสุดท้ายอย่าลืมทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทที่คุณจะไปสมัครด้วยก็จะดีมาก บริษัทเขาเป็นอย่างไร ธุรกิจหลักทำอะไรบ้าง สถานที่อยู่ที่ไหน รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

จากข้อแนะนำทั้งหมดนั้น คุณสามารถเอาไปปรับใช้ให้ให้เหมาะให้ควรกับสถานการณ์จริงของคุณ ฉะนั้นทำมันให้ดีผ่านการสมัครงานในแต่ละครั้ง ไปจนถึงการใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณแล้วล่ะ ว่าจะทำมันให้พังเอง หรือทำมันให้ดีจนน่าประทับใจ

การสมัครงานไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณยังทำในส่วนของการสมัครงานได้ไม่ดี ก็อย่าจินตนาการไปถึงตอนที่ได้ทำงานเลย เพราะในการทำงานจริงนั้นยาก และวุ่นวายกว่าการสมัครงานอีกเยอะ

ขอให้คุณโชคดี พบเจอกับที่ทำงานที่คุณชอบ ได้ทำงานที่คุณรัก เจอเพื่อนร่วมงานดี ๆ และสนุกกับการทำงานนะครับ

...

ที่มา : medium.com

09 สิงหาคม 2561

ผู้ชม 885 ครั้ง

ผู้เข้าชมเว็บไซต์ : 17314461
Engine by shopup.com