กระทรวงแรงงาน ติดตามโครงการจ้างงานฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 ส่งเสริมอาชีพชาวบ้านจังหวัดอ่างทอง ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เป็นแหล่งจ้างงานในท้องถิ่น ให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ก้าวพ้นวิกฤติโควิด
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19 ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (บ้านยางกลาง) ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง โดยกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีพระราชทานพื้นที่ในฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด - 19” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนที่ว่างงานจากผลกระทบโควิด มีงานทำ มีรายได้ เพื่อจุนเจือภายในครอบครัว โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 19.8 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัด 30 ฟาร์มตัวอย่าง ภายในระยะเวลา 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม - 28 กรกฎาคม 2563 ปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ ประชาชนจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 300 บาทต่อคน ทั้งนี้จะมีพี่น้องแรงงานเข้าร่วมโครงการรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,101 คน
นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดอ่างทองมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 50 คน เป็นชาย 14 คน หญิง 36 คน ขณะนี้เหลือ 46 คน โดยบางส่วนได้กลับไปทำงานแล้วเนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระรับจ้างทั่วไป รองลงมา ได้แก่ ทำการเกษตร ค้าขาย และนักศึกษา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 มีความประสงค์ฝึกอาชีพด้านช่าง 4 ราย และต้องการรับงานไปทำที่บ้าน 2 ราย โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.- 13 ก.ค.63 ระยะเวลา 60 วัน หยุดทุกวันอาทิตย์ ค่าตอบแทนวันละ 300 บาทต่อคน ซึ่งการจ่ายเงินเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดอ่างทอง จะออกไปจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนเป็นเงินสด 10 วัน/จ่ายครั้ง นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะช่วยเติมเต็มตามภารกิจ อาทิ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดอ่างทอง ได้ชี้แจงและเชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นต้น
จากนั้น นางเธียรรัตน์ และคณะได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เข้าร่วมโครงการจ้างงานฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19 ของจังหวัดอ่างทอง เพื่อติดตามว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการแล้วแต่ละคนได้นำความรู้ทางด้านเกษตรทฤษฑีใหม่ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพบนที่ดินบริเวณบ้านของตนเองอย่างไร
สุมาลี ช่างบรรจง หรือ ป้ามาลี อายุ 63 ปี บอกว่า ก่อนหน้านี้มีอาชีพนวดแผนโบราณมานานกว่า 10 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงไม่มีงานเข้ามา ทราบข่าวจากผู้ใหญ่บ้านจึงมาสมัครเข้าร่วมโครงการ พอเข้ามามีความสุขที่ได้นำความรู้จากฟาร์มไปใช้ในการปลูกผัก การห่มดิน คลุมดิน ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ บนที่ดินของตนเองจำนวน 1 ไร่ 71 ตารางวา ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้มีผักไว้กินในครัวเรือน เหลือจากกินก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและจุนเจือครอบครัวอีกด้วย
ศรีรัตน์ ขุนเทพ หรือ เปิ้ล บอกว่า เดิมมีอาชีพร้อยมาลัยขาย ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จึงมาเข้าร่วมโครงการจ้างงานฟาร์มตัวอย่าง โดยได้นำความรู้จากฟาร์มมาต่อยอดในการทำเกษตรตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ในที่ดินของตนเองที่บ้าน โดยเฉพาะการนำภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน อาทิ การทำพริกแกงไล่แมลง น้ำหมักชีวภาพ การปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักหวาน มะเขือ ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว พริก เป็นต้น
02 กรกฎาคม 2563
ผู้ชม 284 ครั้ง