วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยภายหลังเป็นประธานรับมอบเครื่องสแกน 2 มิติ (มูลค่าประมาณ 2,000,000 บาท) จาก บริษัท Sylvac SA จำกัด และร่วมกับเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เปิดงานสาธิตการทำงานระบบอัตโนมัติ ด้วยเครื่องมือวัดร่วมกับหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นความร่วมมือในรูปแบบไตรภาคี ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบัน MARA ร่วมกับ บริษัท Sylvac SA จำกัด โดย บริษัท Max Value Technology จำกัด และบริษัท Unical Works จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของ Sylvac SA ในประเทศไทย
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของกพร. ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องเตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC แรงงานฝีมือที่มีทักษะสูง จะเป็นการสร้างโอกาส และความเข้มแข็งด้านแรงงาน รวมถึงความน่าสนใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ บริษัท Sylvac SA จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมือวัดละเอียดซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านไมโครเทคโนโลยีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บริษัท Max Value Technology จำกัด และบริษัท Unical Works จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรของ Sylvac SA ในประเทศไทย ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอันตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) จัดกิจกรรมสาธิตการทำงานในระบบอัตโนมัติร่วมกับหุ่นยนต์และเครื่องสแกน 2 มิติ (SYLVAC SCAN รุ่น F60T) ซึ่งเป็นเครื่องวัดขนาดชิ้นงานทางอุตสาหกรรม เป็นการรวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ กลศาสตร์ และมาตรวิทยา ทำให้เป็นเครื่องมือวัดขนาดทางอุตสาหกรรมที่มีความแม่นยำสูง และจะได้มอบเครื่องสแกน 2 มิติดังกล่าว (มูลค่าประมาณ 2,000,000 บาท) ให้แก่สถาบัน MARA เพื่อใช้ฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติให้แก่แรงงาน ผู้ประกอบกิจการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อไปด้วย
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจของกพร. ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้เป็นแรงงานคุณภาพสูงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีศักยภาพและความพร้อมในการทำงานยุค 4.0 โดยแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการพัฒนากำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านไมโครเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ ที่ต้องการความแม่นยำสูงมากๆ เครื่องจักร เครื่องมือมีราคาสูง ดังนั้น การร่วมมือกับภาคเอกชนเจ้าของเทคโนโลยี จึงเป็นแนวทางที่จะสามารถพัฒนากำลังแรงงานตามเป้าประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ซึ่งกพร. เปิดกว้างสำหรับทุกองค์กรที่ต้องการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย พัฒนาทักษะฝีมือ สร้างโอกาสและความมั่นคงทางอาชีพให้แก่แรงงานไทย นอกจากนี้สถาบัน MARA ยังมีหลักสูตรการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้านระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมอีกหลายหลักสูตร อาทิ เทคนิคการสร้างต้นแบบโดยใช้เครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติ เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ ช่างควบคุมเครื่องกัด CNC เป็นต้น และผู้สนใจฝึกอบรมที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดการฝึกอบรมได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีกพร. กล่าวทิ้งท้าย
26 พฤศจิกายน 2563
ผู้ชม 268 ครั้ง