นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ว่าที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 แก่ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร ให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 800 บาทต่อคน โดยจ่ายคราวละไม่เกิน 3 คน ในการนี้มีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์จำนวน 1.362 ล้านคน คิดเป็นเงิน 13,739 ล้านบาท/ปี ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม 3,432 ล้านบาท ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตรโดยจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป สำหรับระยะการจ่ายเงินกรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรที่ปรับเพิ่มของงวดเดือนมกราคม 2564 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป
ปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือร้อยละ 3 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วย แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตน ในการจ่ายเงินสมทบรวมเป็นเงินจำนวน 15,660 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจาการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระของร่างดังกล่าว กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย และหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาด ของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นผลกระทบให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น โดยให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างดังกล่าว มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทินมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 90 วัน ดังนั้น หากร่างกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับจะทำให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ จากการที่หน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ จำนวน 700,727 ครั้ง ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย คิดรวมเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท
ปรับเพิ่มค่าคลอดบุตรเป็น 15,000 บาท (เดิม 13,000 บาท) ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน พ.ศ.2563 ซึ่งในปี 2564 คาดว่า มีผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์ทดแทนจากกรณีคลอดบุตร 293,073 คน/ปี คิดเป็นเงิน 4,396 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 586.146 ล้านบาท ปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์ เป็น 5 ครั้ง รวมเป็น 1,500 บาท (เดิม 3 ครั้ง 1,000 บาท) คาดว่าจะมีผู้ประกันตนได้รับสิทธิประมาณ 122,114 ครั้ง/ปี เป็นเงิน 36.6 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 17.89 ล้านบาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มในตอนท้ายว่า ซึ่งการมอบของขวัญปีใหม่ 2564 ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติรวมไปถึงนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลบริการและสิทธิประโยชน์ของวัยแรงงานทุกกลุ่มทุกวัย อีกด้วย
24 ธันวาคม 2563
ผู้ชม 236 ครั้ง