1.มาตรการปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39
กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ออก “กฎกระทรวงกําหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2563” ส่งผลให้มีการปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือร้อยละ 3 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วย แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตน
1.1 การเตรียมความพร้อมระบบรองรับการรับชำระเงินสมทบ
ในการจ่ายเงินสมทบอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้จัดเตรียมระบบรองรับการรับชำระเงินสมทบอัตราใหม่เรียบร้อย นายจ้าง ผู้ประกันตน สามารถชำระเงินสมทบอัตราใหม่ผ่านช่องทางต่างๆได้แล้ว ดังนี้
- สำหรับผู้ประกันตน มาตรา33 นายจ้างสามารถชำระเงินสมทบผ่านช่องทาง ดังนี้.
1)เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต
2)การจ่ายเงินสมทบผ่านช่องทางอิเลคทรอนิกส์ หรือระบบ e-Payment นายจ้างสามารถชำระเงินสมทบผ่านระบบ ของธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารซิตี้แบงค์ เอ็น.เอ ธนาคารมิซูโฮ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงค์กิ้งคอร์ปอเรชั่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส (ด้วยบัตรเดบิต/เครดิต มาสเตอร์การ์ด) และธนาคารทหารไทย (ช่องทาง NSW) และสำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่
- สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ตั้งแต่วันนี้สามารถชำระเงินสมทบอัตราใหม่ผ่านช่องทาง ดังนี้
1)ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ใช้บริการหักบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงเทพนั้น ทุกหน่วยบริการพร้อมให้บริการหักบัญชีอัตโนมัติในรอบตัดบัญชีวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
2)ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ใช้บริการเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต เคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์บิ๊กซี เคาน์เตอร์เซ็นเพย์ เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ พร้อมให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ส่วนเคาน์เตอร์เทสโก้โลตัสจะเริ่มให้บริการในวันที่ 7 มกราคม 2564 เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะเริ่มให้บริการในวันที่ 15 มกราคม 2564 เคาน์เตอร์ธนาคารธนชาตจะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้นายจ้างและผู้ประกันตนยังสามารถชำระเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่
1.2 ประโยชน์ที่จะเกิดแก่นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน
คาดการณ์ว่าการลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะช่วย แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตนในการจ่ายเงินสมทบลดลงรวมจำนวน 15,660 ล้านบาท สมตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติรวมไปถึงนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลบริการและสิทธิประโยชน์ของวัยแรงงานทุกกลุ่มทุกวัย
2.มาตรการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่และมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้น จนรัฐได้มีคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการหลายประเภทส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการที่ถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งในการนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ออก "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563" ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563
2.1 สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างผู้ประกันตนจะได้รับ
- ผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิ ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน แต่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
- ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคหรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน
2.2 การเตรียมความพร้อมระบบรองรับการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย
ช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ในครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการขอรับผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 ดังนี้
1. ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7 สามารถdownload แบบได้ที่ www.sso.go.th) แล้วนำส่งให้นายจ้าง ขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง
2. นายจ้างมีหน้าที่ ดำเนินการยื่นขอรับสิทธิว่างงานในระบบ e-Service ดังนี้
2.1 บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้างตาม แบบ สปส. 2-01/7 และ หนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว
2.2 รวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้าง ที่ได้บันทึกแล้วในระบบ e-Service บน www.sso.go.th เสร็จสิ้นตามข้อ 2.1 นำส่ง(ทาง ปณ.ตอบรับ) ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บันทึกเสร็จสิ้น ตามข้อ 2.1
3.การขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุโควิด-19 นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนต้องดำเนินการตาม ข้อ1 และ ข้อ 2 และขอย้ำว่าลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานประกันสังคม และหากดำเนินการดังที่กล่าวครบถ้วนเงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ และรอบตัดจ่ายกำหนดทุกสิ้นเดือนถัดไปหรือจนกว่าจะครบวันที่สถานประกอบการมีกำหนดปิด
2.3 การเฝ้าระวังสถานการณ์
กระทรวงแรงงานได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤต โควิด-19 ทุกด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล เพื่อเร่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ให้มากที่สุด
04 มกราคม 2564
ผู้ชม 278 ครั้ง