ค้นหางานด่วน !

ประกันสังคมขานรับนโยบายรองนายกรัฐมนตรี ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ระดมสรรพกำลังช่วยเหลือผู้ประกันตน และนายจ้าง เต็มที่

หมวดหมู่: ข่าวเด่นวันนี้

 

          เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศลปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย และติดตามผลการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19

 


          พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมถึงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับ การให้ความช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกล่าวขอบคุณ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ที่ร่วมแรงใจ ให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบฯ อย่างเต็มความสามารถ พร้อมเน้นย้ำ มาตรการยกระดับการป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ว่างงาน โดยเร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานพร้อมเงินชดเชยการขาดรายได้แก่ผู้ประกันตน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงาน ต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนไม่ตกหล่น และทันต่อสถานการณ์อย่างเต็มที่

 


          ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยให้ความช่วยเหลือเรื่องของการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตน ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.63 นายจ้างลดเหลือ 4% ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 1% และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 86 บาท และครั้งที่ 2 ช่วงเดือน ก.ย.- พ.ย. 2563 ในส่วนของนายจ้าง 2% ผู้ประกันตน 2% และผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดลงเหลือ 96 บาท เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เหตุสุดวิสัย 62% และเลิกจ้าง 70% ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง 45% จัดให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 รักษาในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐ และเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย จัดให้มีโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยให้สิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่กำหนด ปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม ในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อให้สถานประกอบการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่องให้มีศักยภาพมีการจ้างงาน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 นี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงาน และนายจ้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 92,243.69 ล้านบาท


          เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2564 ซึ่งยังคงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามมาตรการ ให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกันตนและนายจ้าง ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน เรื่อง ปรับลด เงินสมทบ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตราฝ่ายละร้อยละ3 และผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท ในงวดเดือนม.ค.64 และเมื่อวันที่ 19 ม.ค.64 มติคณะกรรมการประกันสังคม ยังได้เห็นชอบให้มีการปรับลดเงินสมทบในงวดเดือนก.พ. – มี.ค.2564 ฝ่ายนายจ้าง 3% ฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตรา 0.5% และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 38 บาท ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ตาม "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563”เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 50% เลิกจ้าง 70% ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง 45% จัดให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 รักษาพยาบาล ทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพิ่มสิทธิการตรวจสอบคัดกรองเชิงรุก โดยออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด - 19 เชิงรุกในสถานประกอบการสำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และในปี 2564 นี้ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือ เพื่อแบ่งภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน นายจ้าง ประมาณการรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 62,201 ล้านบาท


          นายทศพลฯ กล่าวต่ออีกว่าผลงานที่ปรากฏนั้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสำนักงานประกันสังคม ที่พร้อมขับเคลื่อนตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ของนายประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนโยบายรัฐบาล ในการที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

25 มกราคม 2564

ผู้ชม 251 ครั้ง

ผู้เข้าชมเว็บไซต์ : 24796703
Engine by shopup.com