เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพรร่ระบาดของโรคติดเชื้อไรรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต. นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการจัดหางาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และเน้นย้ำให้เฝ้าระวัง ตรวจสอบ คัดกรองโรคโควิด-19 ในทุกสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
“สำหรับการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 6 ชุด เพื่อตรวจสอบ จับกุม ดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองและทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งคนต่างด้าวกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันตามมติครม.วันที่ 29 ธ.ค. 63 ประกอบกับมติครม.วันที่ 26 ม.ค. 64 และมติครม.วันที่ 7 เม.ย. 64 แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 6 ชุด จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งคนต่างด้าวที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนนายจ้าง/สถานประกอบการ จะถูกดำเนินคดีข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี
30 เมษายน 2564
ผู้ชม 251 ครั้ง