ก. แรงงาน ปลื้มกระแสตอบรับดี ฝึกอาชีพรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ใช้เป็นโมเดลพัฒนากำลังคนระดับประเทศนับวันเปิดประเทศ
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต (สพร. 21 ภูเก็ต) หน่วยงานในสังกัดกพร. ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับสมาคมพ่อครัวไทยภูเก็ต สมาคมสปาภูเก็ต สมาคมผู้บริหารงานช่างและพัฒนาฝีมือช่างภาคใต้ ชมรมผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มอันดามัน จัดฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานตาม “โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เพื่อผลิตกำลังคนรองรับแผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) และตามนโยบายพัฒนากำลังแรงงานคุณภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์นั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกำลังแรงงานและประชาชนในพื้นที่สมัครเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและยึดตามมาตรการป้องกันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยรับเข้าฝึกอบรมเพียง 20 คนต่อรุ่นเท่านั้น
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวนั้น เน้นทักษะด้านงานบริการให้สอดรับ กับความต้องการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยการทำเบเกอรี่ พนักงานผสมเครื่องดื่ม บาริสต้ามืออาชีพ การตัดแต่งผมชายสไตล์วินเทจ เทคนิคการนวดออฟฟิศซินโดรม การตัดเย็บชุดพื้นเมือง การประกอบอาหารไทย และช่างซ่อมบำรุงตามแนววิถีใหม่ จำนวน 10 รุ่น มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมกว่า 200 คน โดยใช้สถานที่ของ สพร. 21 ภูเก็ต และศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ฟลอเรสต้า ในการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจสมัครรอเข้าฝึกอบรมอีกเป็นจำนวนมาก จากกระแสตอบรับดังกล่าวจึงได้กำชับสพร. 21 ภูเก็ต เร่งดำเนินการเปิดฝึกอบรม ในหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวและบริการเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเป็นการผลิตกำลังคนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังคนของจังหวัดภูเก็ตใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ คือ ท่องเที่ยว (โรงแรม) บริการสุขภาพ (ธุรกิจสปา) และมารีน่า (ธุรกิจท่าเทียบเรือ) อีกด้วย
“จากผลการดำเนินงานตามแผนภูเก็ตแซนด์บ๊อกดังกล่าว ได้กำชับให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นความปลอดภัยและติดตามสถานการณ์ของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เน้นทำงานเชิงรุกโดยบูรณาการกับงานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในบริการกำลังแรงงานและประชาชน เป็นแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และรับรองความรู้ความสามารถ เป็นการมองไปข้างหน้าและเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น พร้อมเดินหน้าทุกภารกิจรับการเปิดประเทศต่อไป” อธิบดีกพร. กล่าว
14 กรกฎาคม 2564
ผู้ชม 192 ครั้ง